สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
สืบต่อมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔๗
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ มีพระนามเดิมว่า
พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมกพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ครั้นทรงดำรงพระยศเป็นกรมพระ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่
๘ เดือน จึงทรงลาผนวช เมื่อพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาแล้ว
ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๒ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
เป็นพระอุปัชฌาย์ พระจันทรโคจรคุณ (จนฺทรํสสี ยิ้ม) วัดมกุฎกษัตริยาราม
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ประทับ ณ วัดนี้ แต่ในพรรษาที่ ๒-๓
เสด็จไปประทับที่วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร ในสำนักพระจันทรโคจรคุณ
พระกรรมวาจาจารย์ที่ทรงเคารพนับถือมาก ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
จนทรงมีพระปรีชาแตกฉานในภาษาบาลี แต่ทรงสอบเป็นเปรียญเพียง ๕
ประโยคเสมอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนกนาถ
ได้ทรงรับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่ากรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
ในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๒๔ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์สิ้นพระชนม์แล้ว
ได้ทรงรับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตสืบต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖
ถึงพ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงเลื่อนพระยศเป็นกรมหลวง พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ทรงรับมหาสมณุตตมาภิเษกและเลื่อนพระยศเป็น
สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยา เป็น สกลมหาสังฆปรินายก
ประธานาธิบดีแห่งพระสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักร ถึง พ.ศ.๒๔๖๔
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงพระอัจฉริยะในวิทยาการต่างๆ หลายสาขา
คือ พระพุทธศาสนาภาษาต่างๆ (เช่น บาลี อังกฤษ สันสกฤต ฝรั่งเศส
และภาษาโบราณ) การศึกษา การปกครอง วิทยาการสมัยใหม่ต่างๆ อีกมาก
ซึ่งจจะเห็นได้จากผลงานในด้านต่างๆ ของพระองค์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงเป็นพระองค์หนึ่ง
ที่ได้ทรงร่วมสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศชาติ
ในสมัยที่ประเทศชาติกำลังปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญก้าวหน้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการศึกษา
ทั้งทางการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งทางการศึกษาของชาติ
พระองค์ได้ทรงดำเนินการตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย
ซึ่งได้มีการประกาศตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อ ร.ศ.๑๑๒
ได้ทรงนำวิธีการและวิชาการแบบใหม่เข้ามาทดลองสอนและสอบในมหากุฎฯ
เป็นการแรกเริ่ม ทรงให้นักเรียนในมหามกุฎราชวิทยาลัย
เรียนทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาอังกฤษ
ให้เรียนคณิตศาสตร์เบื้องต้นและวิชาการอย่างใหม่อื่นๆ
ทรงพระนิพนธ์ตำราสำหรับเรียนภาษาอังกฤษ
และตำราคณิตศาสตร์เบื้องต้นสำหรับใช้สอนในมหามกุฎราชวิทยาลัย
คือ
ให้มีการสอบด้วยการเขียน
มีการคิดคะแนนในการสอบเป็นเครื่องตัดสินการสอบว่าได้หรือตกและเป็นเครื่อง
วัดผลการศึกษาและความรู้ความสามารถของนักเรียนโดยพระองค์ทรงเป็นผู้วาง
กฎเกณฑ์ในการคิดคะแนนลงเป็นแบบแผนสำหรับใช้ในมหามกุฎราชวิทยาลัยด้วยพระองค์
เอง
ทรงทดลองใช้วิธีการแบบใหม่เหล่านี้ในโรงเรียนของมหามกุฎราชวิทยาลัยจนเป็นที่นิยมแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว
และได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี
เป็นที่สนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และทรงสนับสนุนและสรรเสริญวิธีการเหล่านั้นว่าเป็นวิธีการที่ดี
ประจวบกับในเวลานั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕
ทรงมีพระราชดำริในอันที่จะขยายการศึกษาออกไปยังหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร
และมีพระราชประสงค์ให้วัด
ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาของกุลบุตรมาแต่โบราณกาลแล้ว
เป็นที่ตั้งโรงเรียนสอนเด็กตามแบบและหลักสูตรที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ให้เป็นแบบเดียวกัน
เป็นการตั้งต้นการศึกษาแบบปัจจุบัน
และให้พระภิกษุเป็นผู้ช่วยรับภาระต่างๆ
จึงได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ให้ทรงรับภาระอำนวยการให้พระภิกษุสงฆ์สั่งสอนกุลบุตร
และบังคับการพระอารามในหัวเมืองตลอดพระราชอาณาจักร
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น
ได้ทรงรับสนองพระราชประสงค์ในการนี้
และพระองค์ได้ทรงนำเอาวิธีการและแบบอย่างต่างๆ
ที่เคยทรงใช้ในโรงเรียนของมหามกุฎราชวิทยาลัยมาก่อน
และได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดีแล้วนั้นเอง
มาเลือกใช้และจัดปรับปรุงให้เหมาะสมในการจัดการศึกษาในหัวเมือง
สนองพระราชประสงค์ในการพัฒนาประเทศชาติในด้านการศึกษาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
และประโยชน์อันสำคัญอีกประการหนึ่งของมหามกุฎราชวิทยาลัยก็คือ
เป็นที่ฝึกอบรมพระภิกษุทั้งในกรุงเทพฯ และจากหัวเมืองเพื่อให้เป็นครู
สำหรับส่งออกไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ ในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร
ในการนี้พระองค์ท่านต้องทรงทุ้มเทกำลังพระปรีชาสามารถ
และพระวิริยะอุตสาหะอย่างมากมาย
เพราะต้องทรงดำริจัดการทุกอย่างด้วยพระองค์เอง
เพื่อให้การศึกษาเจริญรุ่งเรืองตามพระราชประสงค์ เช่น
ทรงพระดำริจัดหาและสร้างหลักสูตรสำหรับ
การเล่าเรียนของกุลบุตรในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร
ทรงแนะนำชักชวนกุลบุตรทั้งหลายให้นิยมยินดีในการศึกษา
ทรงซักนำประชาชนให้เห็นประโยชน์ของการศึกษาและช่วยกันสร้างโรงเรียน
เพื่อเป็นที่เล่าเรียนของบุตรหลานของพวกเขาเอง
ทรงจัดฝึกอบรมพระสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถให้เข้าใจในการศึกษาแล้ว
ตั้งให้เป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองประจำมณฑลต่างๆ
และทรงเป็นผู้ที่จะต้องคอยช่วยเหลือแก้ไขปัญหาขัดข้องต่างๆ
ให้ลุล่วงไป ด้วยพระปรีชาสามารถอันสุขุมคัมภีรภาพเนื่องมาจากพระดำริและการจัดการของพระองค์เป็นการเริ่มแรกนี้เอง
จึงได้มีโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเกิดขึ้น
ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นบุคคลสำคัญพระองค์หนึ่งของชาติไทย
ในด้านการวางรากฐานการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งได้ค่อยๆ
พัฒนามาเป็นการศึกษาในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
พระปรีชาสามารถต่างๆ
ในด้านการวางแผนและทำให้การศึกษาของชาติเจริญแพร่หลายออกไปทั่วพระราชอาณาจักรนั้น
จะพบหลักฐานได้จากเอกสารต่างๆ
เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติในสมัยนั้น
ในด้านการศึกษาคณะสงฆ์นั้น กล่าวได้ว่า
พระองค์ท่านทรงเป็นผู้ให้กำเนิดการศึกษาแบบใหม่ของคณะสงฆ์
พระองค์ทรงเปลี่ยนระบบต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาของคณะสงฆ์
จากระบบโบราณซึ่งยากแก่การเล่าเรียน ต้องใช้เวลามาก
และไม่แพร่หลายทั่วไปแก่พระสงฆ์ มาเป็นระบบการเล่าเรียนแบบใหม่
ซึ่งทำให้การเล่าเรียนง่ายขึ้นได้ผลรวดเร็วขึ้น
และแพร่หลายออกไปสู่พระภิกษุสามเณรทั่วพระราชอาณาจักร
พระองค์ได้ทรงนำหลักสูตรและวิธีการแบบใหม่ที่พระองค์ทรงดำริขึ้น
มาทดลองใช้ในสำนักเรียนของวัดบวรนิเวศวิหารก่อน
พระองค์ทรงใช้ตำราที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่คือ
การสอบโดยการเขียนแก่พระนวกะ
ในสำนักวัดบวรนิเวศวิหารเช่นเดียวกันเริ่มแต่ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๔๖)
(ตามหลักฐานเอกสาร) เป็นต้นมาจนเป็นที่ตระหนักแก่พระหทัยว่า
เป็นวิธีการที่ดีและให้ประโยชน์ในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
ต่อมา
พระองค์จึงได้ทรงนำการศึกษาแบบใหม่ที่พระองค์ทรงพระดำริขึ้น
และทดลองจนเป็นที่ได้ผลนี้ มาตั้งเป็นแบบการศึกษาสำหรับพระสงฆ์
พระองค์ได้เปิดการสอบ
“องค์ของสามเณรรู้ธรรม”
ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔)
เพื่อเป็นหลักเกณฑ์สำหรับสามเณรผู้ที่ควรจะได้รับการยกเว้นจากการถูกเรียกเป็นทหาร
ตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘)
และการศึกษาแบบใหม่นี้ก็ได้เจริญสืบมาจนปัจจุบันนี้
ดังที่ทราบกันทั่วไปในขณะนี้ว่า
“นักธรรม”
ซึ่งมี ๓ ชั้น คือนักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท
และนักธรรมชั้นเอก
อันเป็นการศึกษาขั้นมูลฐานของคณะสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักรอยู่ในบัดนี้
ทรงรจนาหลักสูตรสำหรับนักธรรมชั้นตรี-โท-เอกขึ้นใช้
เป็นเหตุทำให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ความเข้าใจ
และประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยดีขึ้นโดยทั่วไป
ทรงเปลี่ยนระบบการสอบพระปริยัติธรรมภาษาบาลีแบบแปลปาก
มาเป็นแบบแปลโดยวิธีเขียน
ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ทรงทดลองใช้ในโรงเรียนของมหามกุฎราชวิทยาลัยมาก่อนเช่นเดียวกัน
ได้ทรงนำวิธีแปลโดยวิธีเขียน มาใช้ในการสอบสนามหลวงเป็นครั้งแรกเมื่อ
พ.ศ.๒๔๕๔ ในการสอบประโยค ๑-๒
เมื่อทรงเห็นว่าเป็นการสะดวกและเป็นผลดีต่อการศึกษา
จึงได้ประกาศใช้เป็นทางราชการสำหรับการสอบทุกประโยคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๔๕๘
ซึ่งเป็นผลทำให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ความชำนาญในอักขรวิธี
และการเขียนอ่านภาษาไทยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
ทรงปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักสูตรสำหรับบาลีประโยคต่างๆ
ให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้เล่าเรียนไปแล้วทรงชำระคัมภีร์ปกรณ์ต่างๆ
สำหรับใช้เป็นหลักสูตรบาลีประโยคนั้นๆ ทรงรจนาบาลีไวยากรณ์ขึ้น
สำหรับเป็นหลักสูตรในการศึกษาบาลี
และทำให้การศึกษาภาษาบาลีง่ายขี้นกว่าแต่ก่อน
ตำราและหลักสูตรทั้งหลายเหล่านี้
ได้ใช้สำหรับการศึกษาของคณะสงฆ์ตลอดมา
ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกในยุคของพระองค์จนปัจจุบันนี้
หลักสูตรนักธรรมและบาลีที่พระองค์ทรงรจนาและชำระนี้ นอกจากจะใช้อยู่ในพระราชอาณาจักรไทยแล้ว
ประเทศใกล้เคียงบางประเทศก็ได้นำไปใช้เป็นหลักสูตรบ้าง
เป็นหนังสือประกอบบ้าง สำหรับการศึกษาของพระสงฆ์ในประเทศนั้นๆ
อีกด้วย พระเกียรติคุณของพระองค์
ในด้านการรจนาตำรับตำราทางพระพุทธศาสนานั้น
จึงมิใช่จะปรากฏอยู่เพียงภายในประเทศไทยเท่านั้น
แต่ได้แพร่หลายไปในนานาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาหรือที่สนใจในการศึกษาพระพุทธศาสนา
พระนิพนธ์ที่เป็นหลักสูตรในการศึกษาทางพระพุทธศาสนาหลายเรื่องได้แปลออกเป็นภาษาต่างประเทศ
เช่น นวโกวาทวินัยมุข เล่ม ๑-๒
ธรรมวิภาคธรรมวิจารณ์และอุปสมบทวิธีเป็นต้น
พระเกียรติคุณของพระองค์ท่านจึงเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มผู้รู้และนักศึกษาชาวต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น
พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการศึกษา
และปฏิบัติธรรมนั้นเจริญแพร่หลายอยู่ในหมู่ของพระสงฆ์และในวงของนักปราชญ์บางเหล่าเท่านั้นไม่แพร่หลายไปในหมู่ประชาชนส่วนมาก
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ
ก็เท่ากับว่าการเผยแพร่และการปฏิบัติธรรมไม่สำเร็จประโยชน์แก่มหาชนตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา
จึงได้ทรงวางแนวแห่งการเผยแพร่พระพุทธศาสนาและจัดระดับธรรมต่างๆ
สำหรับสั่งสอนพุทธศาสนิกชนให้เหมาะสมกับบุคคลในระดับชั้นนั้นๆ
ที่จะศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ และนำไปประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง
เพื่อให้สำเร็จความมุ่งหมายดังกล่าวนี้
จึงจะได้ทรงรจนาหนังสือเบญจศีลเบญจธรรม และธรรมวิภาค
ภาคคิหิปฏิบัติแสดงคำสอนเบื้องต้นของพระพุทธศาสนาสำหรับสามัญชนทั่วไปจะได้
ศึกษา
และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทรงรจนาอรรถศาสน์
แสดงประโยชน์อันบุคคลจะพึงได้ในชาตินี้
และชาติหน้าตามคติทางพระพุทธศาสนา
อันเป็นคำสอนที่สูงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งเป็นกลาง และทรงรจนาธรรมวิจารณ์
แสดงคำสอนชั้นสูงทางพระพุทธศาสนา
เพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมชั้นสูง
จะได้ศึกษาและนำไปเป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติเป็นต้น
นอกจากนี้
ได้ทรงเป็นผู้ริเริ่มในการรจนาหนังสือธรรมแสดงคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาอย่างง่ายๆ
เช่น ทรงรจนาเทศนาด้วยถ้อยคำและสำนวนแบบธรรมดา เหมาะแก่กาลและสมัย
เป็นแบบอย่างสืบมาจนบัดนี้ พระดำริเริ่มในการนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
ทรงเห็นประโยชน์และเป็นที่ต้องพระราชประสงค์
ในการที่จะทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
จึงได้ทรงอาราธนาให้ทรงรจนาพระธรรมเทศนาส่องไปแจกตามวัดต่างๆ
ในหัวเมืองเพื่อพระภิกษุสามเณรจะได้ศึกษาและใช้เทศนาสั่งสอนประชาชน
การคณะสงฆ์
พระองค์ก็ได้ทรงจัดการปกครองคณะสงฆ์ให้เข้าระเบียบอันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก
การที่ทรงจัดการศึกษาหัวเมืองซึ่งอาศัยผู้อำนวยการศึกษามณฑลต่างๆ
และพระสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักรรายงานความเป็นไปของคณะสงฆ์ให้ทรงทราบ
จึงได้เกิดมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์
ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ขึ้นเป็นครั้งแรก ตามพระราชบัญญัตินี้
จัดแบ่งส่วนการปกครองเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีเถรสมาคม
มีเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะตามลำดับชั้น
จนถึงเจ้าอาวาสปกครองบังคับบัญชากันเป็นชั้นๆ ตามลำดับ
เถรสมาคมอยู่ในฐานะเป็นที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนาของพระมหากษัตริย์
พระองค์ประทับเป็นประธานในเถรสมาคม ทรงประชุมปรึกษาและประทานพระมหาสมณวินิจฉัย
ทรงวางระเบียบต่างๆ
อันเป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยด้วยความเรียบร้อย
ทรงสอดส่องดูแลให้พระภิกษุสามเณรประพฤติอยู่ในสมณวิสัย
ต่อมาในรัชกาลที่๖ (พ.ศ.๒๔๕๓)
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าถวายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์แด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นับเป็นครั้งแรกที่พระสงฆ์ได้ปกครองกันเอง
เพราะก่อนแต่นั้น คณะสงฆ์ไม่ได้มีอำนาจปกครองกันเอง
จึงทำให้เกิดการอากูลหลายอย่าง
แต่เมื่อทรงจัดการปกครองคณะสงฆ์ให้มาอยู่กับพระเถระตามลำดับชั้น
ก็ทำให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นระเบียบเรียบร้อยและเป็นสัดส่วน
ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
แม้ว่าจะทรงเป็นเจ้านายสุขุมาลชาติ แต่ในสมัยที่ทรงบริหารการคณะสงฆ์
และทรงจัดการศึกษาของชาติในส่วนหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร
ก็ได้เสด็จออกไปตรวจการณ์การคณะสงฆ์และการศึกษาในหัวเมืองมณฑลต่างๆ
ทั่วพระราชอาณาจักรเท่าที่จะสามารถเสด็จไปถึงเป็นครั้งคราวอยู่เสมอ
บางแห่งที่เสด็จไป ต้องทรงลำบากพระวรกายเป็นอย่างมากบ่อยครั้งต้องเสด็จดำเนินไปด้วยพระบาทเปล่า
จากตำบลหนึ่งไปสู่อีกตำบลหนึ่ง
แต่พระองค์ก็ทรงมีพระขันติและวิริยะอุตสาหะ
เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนาและการศึกษาของชาติ
โดยมิเคยทรงนำพาถึงความทุกข์ยากส่วนพระองค์
พระจริยาวัตรต่างๆ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นดังกล่าวมาแล้ว
ย่อมแสดงให้เห็นว่า
ได้ทรงพระปรีชาสามารถเพียงไหน
ทรงบำเพ็ญประโยชน์อันเป็นพระคุณูปการแก่พระศาสนาและประเทศชาติเพียงไร
ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่เพื่อความเจริญวัฒนาการของพระศาสนาและชาติโดยแท้
สมเป็นปูชนียบุคคลที่ควรเคารพบูชาของชาติไทย
เป็นผู้ที่อนุชนจะพึงเคารพบูชาและถือเป็นเนตติแบบอย่างในการบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและประเทศชาติสืบไป
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระมหากษัตริย์
๒ พระองค์ คือ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าและพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอีกหลายพระองค์
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายกได้ ๑๒ ปี
ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารได้ ๒๙ ปี สิ้นพระชนม์ เมื่อ วันที่๒ สิงหาคม
พ.ศ.๒๔๖๔ พระชนมายุ
๖๒
พรรษา
พระพุทธมนุสสนาค เป็นพระพุทธรูปยืนครองจีวรคลุมทั้ง ๒ พระอังสา
ประดิษฐานด้านสกัดทางทิศตะวันตกเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์และบรรจุพระอังคารของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ครองวัดบวรนิเวศวิหารเป็นองค์ที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างนำมาประดิษฐานในพุทธศักราช
๒๔๗๓
พระพุทธรูปฉลองพระองค์นี้ได้นามตามพระนามฉายาของพระองค์ว่า
“มนุสฺสนาโค”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น